Carbon Footprint คืออะไร ทำไมองค์กรธุรกิจจึงต้องให้ความสำคัญ

Carbon Footprint คืออะไร ทำไมองค์กรธุรกิจจึงต้องให้ความสำคัญ

Carbon Footprint คือ

 

หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า Carbon Footprint หรือ รอยเท้าคาร์บอน ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง คำคำนี้มีความเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุษย์ ซึ่งส่งผลโดยตรงกับสิ่งแวดล้อมและการเกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน 

โดย Carbon Footprint ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการควบคุมไม่ให้บริษัทหรือองค์กรภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดำเนินกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินไปจนส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต เพื่อให้คุณเข้าใจถึง Carbon Footprint มากยิ่งขึ้น ในบทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักว่า Carbon Footprint คืออะไร มีกี่ประเภท และทำไมองค์กรยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญ

 

สารบัญบทความ

Carbon Footprint คืออะไร มีที่มาอย่างไร

หลาย ๆ กิจกรรมของมนุษย์ในปัจจุบันล้วนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศทั้งสิ้น ซึ่งเราสามารถเปรียบเสมือนรอยเท้าที่เกิดขึ้นหลังจากทำกิจกรรมนั้น ๆ จบไปแล้ว จึงเป็นที่มาของคำว่า Carbon Footprint นั่นเอง

หรืออธิบายให้ชัดเจน อีกนัยหนึ่ง Carbon Footprint คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาเป็นฐานหลักในการคำนวณ 

Carbon Footprint มักถูกใช้เป็นตัวชี้วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทหรือองค์กรภาคอุตสาหกรรม โดยมีหน่วยวัดของ Carbon Footprint คือกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) หรือตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) หากวัดค่า Carbon Footprint ที่องค์กรปล่อยออกมาได้ปริมาณมาก นั่นหมายความว่าองค์กรนั้นกำลังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีส่วนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น 

ปัจจุบันหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มีความพยายามในการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงบริษัทหรือองค์กรยุคใหม่ต่างก็กำลังปรับตัวให้ตัวเองกลายเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อลดผลกระทบต่อโลกให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน เราทุกคนก็สามารถช่วยกันลด Carbon Footprint ได้ง่าย ๆ ด้วยการเลือกใช้สินค้าที่มีฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์รับรอง แค่นี้ก็ถือเป็นการช่วยโลกอีกทางหนึ่งได้แล้ว

Carbon Footprint มีกี่ประเภท แบ่งเป็นอะไรบ้าง

คาร์บอนฟุตพริ้นท์มีกี่ประเภท

 

ปัจจุบันมีการแบ่งประเภทของ Carbon Footprint ออกเป็น 3 ประเภทตามแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนี้

Carbon Footprint of Companies (คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร)

Carbon Footprint of Companies หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทหรือองค์กร เช่น การใช้ไฟฟ้า พลังงานความร้อน การใช้เชื้อเพลิงในเครื่องจักร เป็นต้น โดยพิจารณาจาก 3 ส่วนหลัก ดังนี้

  1. Carbon Footprint ทางตรง (Direct Emissions) เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต การขนส่งสินค้าโดยยานพาหนะขององค์กร เป็นต้น
  2. Carbon Footprint ทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) เช่น การใช้ไฟฟ้า พลังงานความร้อน พลังงานไอน้ำ เป็นต้น

  3. Carbon Footprint ทางอ้อมด้านอื่น ๆ เช่น การใช้กระดาษ การใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำงาน การเดินทางของพนักงาน เป็นต้น

Carbon Footprint of Services (คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของการบริการ)

Carbon Footprint of Services หรือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของการบริการ คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาในการให้บริการใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทางธุรกิจ เช่น การประเมินหรือทำรายงานทางธุรกิจ, การรวบรวมข้อมูล, การติดตามและวัดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม, การฝึกอบรม, การเดินทาง, การจัดส่งสินค้า ไปจนถึงก่อสร้างอาคารสำนักงาน เป็นต้น

Carbon Footprint of Products (คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์)

Carbon Footprint of Products หรือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product life cycle) ซึ่งค่า Carbon Footprint of Products จะถูกแสดงข้อมูลบนฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยตัวเลขที่ได้จะเริ่มคำนวณตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน จนไปถึงการทำลายทิ้งหลังจากหมดอายุการใช้งาน

การคำนวณ Carbon Footprint ต้องทำอย่างไรบ้าง?

การคำนวณ Carbon Footprint คือกระบวนการคำนวณเพื่อที่จะหาว่าองค์กรแต่ละแห่งมีการปล่อย Carbon Footprint เท่าไรในแต่ละปี หรือคำนวณว่าตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์หนึ่งมี Carbon Footprint อยู่ที่เท่าไร

การคำนวณโดยทั่วไปจะคิดจากพื้นฐานที่ว่า ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1 กิโลกรัม เท่ากับ Carbon Footprint 1 กิโลกรัม แต่ด้วยความที่ก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิด การคำนวณหาค่า Carbon Footprint จึงใช้หน่วยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) แล้วแทนค่าด้วยกิโลกรัม (kg) หรือตัน (t) ต่อปี

ตัวอย่างการคำนวณหาคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร มีสูตรคือ 

Carbon Emissions = Activity Data x Emission Factor 

  • Activity Data คือข้อมูลกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ค่าพลังงานไฟฟ้า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของยานพาหนะ น้ำหนักของของเสีย เป็นต้น

  • Emission Factor คือค่าคงที่ที่ใช้เปลี่ยน Activity Data ให้เป็นค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

หลักการคำนวณคือ 

  1. นำ Activity Data มาแปลงค่าให้อยู่ในรูปปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำได้โดยการคูณกับค่า Emission Factor ที่เกี่ยวข้อง

  2. เมื่อได้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดแล้ว ให้แปลงค่าที่ได้ให้เป็นหน่วยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยนำไปคูณกับค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) ของก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิด 

  3. แทนค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าที่ได้ให้อยู่ในหน่วยกิโลกรัม (kg) หรือตัน (t) ก็จะได้ Carbon Footprint ขององค์กรนั้นในระยะเวลา 1 ปี 

อย่างไรก็ตาม หลังคำนวณค่า Carbon Footprint เรียบร้อยแล้ว ยังมีอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญได้แก่การทวนสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Verification - CFV) คือการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรคำนวณออกมา CFV ถือเป็นการทวนสอบที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างและมีความน่าเชื่อถือสูง ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่า Carbon Footprint ขององค์กรมีความถูกต้องและสมบูรณ์

ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ย Carbon Footprint ของประเทศไทยอยู่ที่ 5.3-5.5 ตัน/คน/ปี (อ้างอิงข้อมูลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร) ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่ 4 ตัน/คน/ปี การตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นเรื่องที่หลาย ๆ องค์กรและภาคธุรกิจให้ความสำคัญและกำลังเดินหน้าทำอย่างจริงจังเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อโลกใบนี้

ความสำคัญของ Carbon Footprint ต่อองค์กรและธุรกิจต่าง ๆ ในปัจจุบัน

คาร์บอนฟรุตปริ้นขององค์กร
 
  1. Carbon Footprint คือตัวชี้วัดสำคัญว่าองค์กรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหน ช่วยให้สามารถวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างตรงจุด และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  2. องค์กรสามารถนำข้อมูลเกี่ยวกับ Carbon Footprint ที่มีไปใช้ต่อยอดและพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ในอนาคต เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติช่วยลดโลกร้อน หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้รับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 

  3. การที่องค์กรนั้น ๆ มี Carbon Footprint ต่ำ หมายความว่าองค์กรนั้นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ช่วยเสริมภาพลักษณ์องค์กรให้ดูดีขึ้นในสายตาของผู้บริโภค และยังสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนได้

  4. การตั้งเป้าลด Carbon Footprint เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เชื้อเพลิง ต้นทุนการขนส่ง รวมถึงลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ 

  5. การลด Carbon Footprint คือการสร้างความได้เปรียบให้กับองค์กรเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเจอกับมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) หรือมาตรการต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ นอกจากนี้องค์กรยังได้รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นทุนพัฒนาองค์กรต่อไปได้

  6. การลด Carbon Footprint ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในสายตานักลงทุน รวมทั้งเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่ทรงพลัง ถือเป็นการสร้างการรับรู้และการสื่อสารที่ดีระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค นำไปสู่ความยั่งยืนให้กับธุรกิจ

  7. การลงทุนด้านการลด Carbon Footprint ช่วยสร้างความได้เปรียบและความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร เนื่องจากภาวะโลกร้อนเป็นวิกฤติที่ทุกประเทศกำลังให้ความสำคัญและรีบเร่งแก้ไข หากองค์กรขับเคลื่อนด้วยแนวคิดนี้ก็จะได้รับเครดิตที่ดีในสายตาของนานาชาติ

ลด Carbon Footprint คือเรื่องเร่งด่วนที่ต้องลงมือทำ

เพราะ Carbon Footprint คือร่องรอยของการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เพื่อไม่ให้โลกของเราได้รับผลกระทบไปมากกว่านี้ องค์กรต่าง ๆ จึงควรให้ความสำคัญและต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการลด Carbon Footprint ขององค์กรอย่างจริงจัง ขณะที่ภาคประชาชนก็สามารถช่วยลด Carbon Footprint ได้ง่าย ๆ ผ่านการเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือใช้สินค้าที่มีฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์รับรองผลิตภัณฑ์ 

 

แผ่นยิปซัมตราช้างเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์รับรองมากกว่า 10 รุ่น 

 

สำหรับผลิตภัณฑ์ยิปซัมตราช้างที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ได้แก่ 

  • แผ่นยิปซัมมาตรฐาน ตราช้าง ความหนา 9 มม. และ ความหนา 12 มม.

  • แผ่นยิปซัมมอยส์บล็อค ตราช้าง (ทนชื้น) ความหนา 9 มม. และ ความหนา 12 มม.

  • แผ่นยิปซัมไฟร์บล็อค ตราช้าง (ทนไฟ) ความหนา 12 มม. และความหนา 15 มม.

  • แผ่นยิปซัมแอคโค่บล๊อค ตราช้าง ความหนา 12 มม.

  • แผ่นยิปซัมมัลติวอลล์ ตราช้าง ความหนา 15 มม.

  • แผ่นกลาสบล็อค ตราช้าง ความหนา 12.7 มม. และความหนา 15.9 มม. 

 

ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ยิปซัมตราช้าง ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์รวมทั้งหมด 10 ผลิตภัณฑ์ โดยมีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามมาตรฐานสากลตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่ง การบริโภค ตลอดจนการกำจัดซากทิ้งของผลิตภัณฑ์ มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือน้อยที่สุด

 

หมายเหตุ ข้อมูล ณ วันที่ 4 มีนาคม 2567

 

ลูกค้าที่สนใจแผ่นยิปซัมตราช้างสามารถหาซื้อสินค้าได้ที่ร้านผู้แทนจำหน่ายเอสซีจีและร้านขายวัสดุก่อสร้างชั้นนำทั่วประเทศ หรือค้นหาข้อมูลการใช้งานเพิ่มเติมได้ที่