ภาวะโลกร้อนไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไป ทำให้ในปัจจุบันเกิดแนวคิดที่สนับสนุนให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น หนึ่งในแนวคิดที่กำลังได้รับความนิยมคือ Green Building หรืออาคารสีเขียว ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการออกแบบที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน
อาคารสีเขียวจึงกลายมาเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน บทความนี้จะชวนทุกคนมารู้จักว่า Green Building คืออะไร รวมถึงเกณฑ์การประเมิน และความสำคัญของอาคารสีเขียวต่อสิ่งแวดล้อม หากพร้อมแล้วไปดูกัน!
สารบัญบทความ
Green Building คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
เกณฑ์ใดบ้างที่บ่งบอกว่าเป็น Green Building
การประเมิน Green Building มีหลักเกณฑ์ใดบ้าง
Green Building อาคารสีเขียวเพื่อความยั่งยืน
Green Building คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร?
Green Building หรือ อาคารสีเขียว คือแนวคิดแบบองค์รวมในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง ตึก หรืออาคารใด ๆ ก็ตาม ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตลอดวงจรชีวิตของอาคาร ซึ่งแนวคิด Green Building เริ่มต้นจากการเข้าใจว่าสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นสามารถส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติรวมถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาคาร อาคารสีเขียวจึงเป็นความพยายามที่จะขยายผลเชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบเหล่านี้ตลอดวงจรชีวิตของอาคาร
ทั่วไปแล้ว อาคารสีเขียวจะหมายถึงการวางแผน ออกแบบ ก่อสร้าง การดำเนินการ และการบำรุงรักษาอาคารที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีข้อพิจารณาสำคัญหลายประการ อาทิ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ, ลดการใช้น้ำ, คุณภาพของสิ่งแวดล้อมภายในอาคารที่ดี, ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือลดผลกระทบของอาคารที่มีต่อที่ตั้ง เป็นต้น โดยต้องสามารถเพิ่มประสิทธิภาพตามธรรมชาติของพื้นที่ก่อสร้างให้ได้สูงสุด พร้อมกับสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อผู้ใช้อาคารทุกคนอย่างเหมาะสม
Green Building สามารถลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับอาคารทั่วไป จึงมีความจำเป็นในระดับโลกในการช่วยผลักดันแนวคิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับมหภาค พร้อมกับเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด และมีส่วนสนับสนุนต่อสุขภาพของมนุษย์ที่ดีขึ้น
เกณฑ์ใดบ้างที่บ่งบอกว่าเป็น Green Building?
การที่อาคารหลังหนึ่งจะเป็น Green Building ได้นั้น จำเป็นต้องผ่านเกณฑ์การประเมินหลายด้านจากสถาบันหรือองค์กรที่กำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าอาคารมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการออกแบบและการก่อสร้างตรงตามมาตรฐานที่กำหนดในแต่ละประเทศ สำหรับในประเทศไทยจะใช้เกณฑ์การประเมินที่เรียกว่า TREES ของสถาบันอาคารเขียวไทยเป็นตัวชี้วัด โดยจะมีการประเมินใน 8 ด้าน ดังนี้
1. การบริหารจัดการอาคาร (Building Management)
เป็นหลักเกณฑ์การประเมินที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการตัวอาคาร โดยต้องเริ่มตั้งแต่การจัดตั้งคณะทำงานและจัดทำแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การประเมิน Green Building วางแผนประชาสัมพันธ์ให้สังคมรับทราบผ่านสื่อต่าง ๆ จัดทำคู่มือการใช้งานและดำเนินการจัดฝึกอบรมสำหรับระบบที่มีความสำคัญ มีการติดตามผลและประเมินผลกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ และวางแผนระยะยาวสำหรับดำเนินโครงการอาคารสีเขียวตั้งแต่เริ่มแรก
2. ผังบริเวณและภูมิทัศน์ (Site and Landscape)
การประเมินผังบริเวณและภูมิทัศน์เป็นหลักเกณฑ์สำคัญสำหรับการประเมินอาคาร Green Building ซึ่งการจะเป็นอาคารสีเขียวได้ อาคารหลังนั้นต้องมุ่งเน้นลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว พร้อมกับมุ่งเน้นการสร้างพื้นที่เปิดโล่งเชิงนิเวศอย่างเหมาะสมและพอเพียง โดยภายในโครงการต้องมีต้นไม้ยืนต้น 1 ต้นต่อพื้นที่เปิดโล่ง 100-200 ตารางเมตร มีการใช้พืชพรรณพื้นถิ่นที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการปัญหาซึมน้ำและลดปัญหาน้ำท่วม รวมถึงการลดปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมืองจากการพัฒนาโครงการ นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดสวนบนหลังคาหรือสวนแนวตั้ง มีพื้นที่ดาดแข็งที่รับรังสีตรงจากดวงอาทิตย์ไม่เกินร้อยละ 50 ของพื้นที่ดาดแข็งโครงการ และต้องจัดให้มีการดูแลและบำรุงรักษาพื้นที่ภายนอกอาคารและภูมิทัศน์อย่างเหมาะสม
3. การประหยัดน้ำ (Water Conservation)
อาคาร Green Building ต้องมีการกำหนดนโยบายด้านการประหยัดน้ำอย่างชัดเจนและจริงจัง มีการบริหารจัดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้น้ำฝนซึ่งสะอาดและไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาระในการผลิตน้ำประปาและลดภาระในการบำบัดน้ำเสียของระบบบำบัดน้ำเสีย เน้นการใช้สุขภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติประหยัดน้ำ พิจารณาการใช้อุปกรณ์ควบคุมการเปิด-ปิดน้ำอัตโนมัติ รวมถึงลดการใช้น้ำในขณะก่อสร้างให้มากที่สุด ตลอดจนมีการออกแบบ วางแผน และก่อสร้างระบบประปาที่ดีให้กับตัวอาคาร
4. พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere)
อาคาร Green Building ต้องมีการสำรวจอาคารและวางแผนพัฒนาการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการใช้พลังงานของอาคาร ส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพและนโยบายการอนุรักษ์พลังงานในอาคารให้สูงกว่าอาคารทั่วไป สามารถผลิตพลังงานทดแทนได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 0.5-3.5 ของพลังงานในอาคาร ไม่ใช้สาร CFC และ HCFC-22 ที่ทำลายชั้นบรรยากาศ มีระบบ BMS ที่สามารถบันทึกข้อมูล สถิติ และควบคุมการทำงานระบบปรับอากาศ ระบบระบายอากาศ ระบบแสงสว่าง รวมถึงมีระบบบริหารควบคุมและจัดการพลังงานอาคารเพื่อส่งเสริมการบริการจัดการและอนุรักษ์พลังงานด้วยการบันทึกข้อมูลการพลังงานตามระบบ
5. วัสดุและทรัพยากร (Materials and Resources)
อาคาร Green Building ต้องจัดทำนโยบายการจัดซื้อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและวางแผนประชาสัมพันธ์ให้ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมมากที่สุด ครอบคลุมตั้งแต่การจัดซื้อวัสดุอุปโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้งาน ตลอดจนมีการจัดทำนโยบายการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น มีการแยกขยะอย่างถูกต้อง หาวิธีลดขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำขยะไปใช้ประโยชน์ต่อหรือนำกลับมาใช้ใหม่
6. คุณภาพของสภาวะแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environmental Quality)
อาคาร Green Building ต้องมีคุณภาพของสภาวะแวดล้อมภายในอาคารที่ดี เช่น มีอัตราการระบายอากาศผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐาน มีควบคุมแหล่งมลพิษจากภายนอกเข้าสู่ภายในอาคาร มีพื้นที่สูบบุหรี่ห่างจากประตูหน้าต่างหรือช่องนำอากาศเข้าไม่น้อยกว่า 10 เมตร มีประสิทธิภาพการกรองอากาศผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐาน มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคารอย่างสม่ำเสมอ มีการทำความสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพ มีการควบคุมแสงสว่างภายในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงให้ห้องที่มีการใช้งานประจำได้รับแสงธรรมชาติอย่างพอเพียง และมีการอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในส่วนที่มีการปรับอากาศที่ เหมาะสมตามมาตรฐาน
7. การป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection)
อาคาร Green Building ต้องมีการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เช่น ไม่ใช้สารฮาลอน (Halon), ซีเอฟซี (CFC) และเอสซีเอฟซี (HCFC) ในระบบดับเพลิง มีการวางตำแหน่งเครื่องระบายความร้อนห่างจากที่ดินข้างเคียง ใช้กระจกมีค่าสะท้อนแสงไม่เกินร้อยละ 30 มีการจัดทำรายงานการควบคุมโรคที่เกี่ยวข้องกับอาคาร และมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำเสียอย่างสม่ำเสมอ
8. นวัตกรรม (Green Innovation)
นวัตกรรม (Green Innovation) เป็นการเกณฑ์การประเมินที่กระตุ้นให้มีการบริหารและปรับปรุงอาคาร Green Building ให้มีประสิทธิภาพเกินกว่าที่มาตรฐาน TREES กำหนดไว้ และกระตุ้นให้มีการเสนอแนวคิดเพื่อความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยเจ้าของโครงการสามารถนำเสนอเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ใช้ในอาคารของตัวเองเพื่อเพิ่มคะแนนการประเมินได้
ดูข้อมูลการประเมินเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.tgbi.or.th/uploads/trees/เกณฑ์%20TREES-EB_160921.pdf
ข้อดีของ Green Building
Green Building มีข้อดีมากมายที่ไม่เพียงช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยและสังคมโดยรวม ดังนี้
● ช่วยลดการใช้พลังงาน : Green Building ถูกออกแบบมาให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด พลังงานทดแทน รวมถึงพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวอีกด้วย
● คุณภาพอากาศดีขึ้น : Green Building มีการออกแบบและการจัดการอากาศภายในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับการใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ไม่มีสารเคมีอันตราย ทำให้คุณภาพอากาศภายในอาคารดี ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้ใช้อาคารทุกคน นอกจากนี้รวมถึงช่วยลดผลกระทบด้านสภาพอากาศของเมืองจากการมีต้นไม้ สวน หรือพื้นที่สีเขียวช่วยฟอกอากาศ ทำให้อากาศสะอาดขึ้น
● ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก : Green Building เป็นอาคารที่ออกแบบมาเพื่อมุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดผ่านปัจจัยต่าง ๆ บนตัวอาคาร เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ การใช้ประโยชน์จากพลังงานลมและน้ำฝน การติดตั้งระบบพลังงานหมุนเวียน การใช้เชื้อเพลิงสะอาด รวมถึงการนำพลังงานใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น
● เพิ่มมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ : อาคารที่เป็น Green Building มักมีมูลค่าสูงกว่าอาคารทั่วไปเนื่องจากมีการออกแบบพิเศษที่มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมักจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีในการก่อสร้างที่ทันสมัย รวมถึงมีระบบจัดการทรัพยากรด้านต่าง ๆ ที่ซับซ้อน ประกอบกับความต้องการอาคารสีเขียวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้ผู้ลงทุนและเจ้าของอาคารมีโอกาสได้ผลประโยชน์ที่ดีขึ้นในระยะยาว
● ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ : อาคารที่เป็น Green Building จะมุ่งเน้นการใช้วัสดุที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการออกแบบที่เน้นลดการใช้ทรัพยากรในการก่อสร้าง ตกแต่ง และบำรุงรักษา ในภาพรวมถึงเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติได้มากขึ้น
● ช่วยส่งเสริมระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของเมือง :Green Building สามารถช่วยส่งเสริมระบบโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนใกล้เคียงหรือเมืองได้ โดยเจ้าของตึกสีเขียวสามารถบูรณาการร่วมกับภาครัฐในการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สอดคล้องกับอาคาร เช่น ป้ายรถเมล์พลังงานแสงอาทิตย์ สถานีชาร์จรถยนต์จากพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากตัวอาคาร หรือสวนสาธารณะปลอดมลพิษ เป็นต้น
การประเมิน Green Building มีหลักเกณฑ์ใดบ้าง?
สำหรับการประเมินว่าอาคารใดบ้างที่เป็น Green Building จะใช้ข้อกำหนดหรือหลักเกณฑ์จากองค์กรหรือสถาบันที่กำกับดูแลด้านการก่อสร้างอาคารสีเขียวโดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายองค์กรด้วยกัน โดยข้อกำหนดที่ได้รับความนิยมในการประเมิน Green Building มีดังนี้
● LEED : Leadership in Energy and Environmental Design หรือ LEED Certification คือข้อกำหนดที่ใช้ประเมิน Green Building ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จัดตั้งขึ้นโดยสภาอาคารเขียวของสหรัฐอเมริกา (U.S. Green Building Council - USGBC) ในปี ค.ศ. 1993 ปัจจุบันถูกพัฒนามาถึง LEED v5 ซึ่งเป็นระบบการให้คะแนนแบบใหม่ล่าสุดที่จะมุ่งเน้นสู่มาตรฐานอาคาร Net Zero คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เตรียมเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนช่วงต้นปี ค.ศ. 2025
● BREEAM :Building Research Establishment Environmental Assessment Method หรือ BREEAMเป็นข้อกำหนดที่ใช้ประเมิน Green Building จากองค์กร Building Research Establishment (BRE) ของสหราชอาณาจักร จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1990 และยังเป็นข้อกำหนดในการระบุความยั่งยืนของอาคารที่ถูกใช้กันมายาวนานที่สุดในโลก และมีความน่าเชื่อถือสูง
● EDGE :เป็นข้อกำหนดการรับรอง Green Building ที่จัดตั้งโดยบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC International Finance Corporation - IFC) ข้อกำหนดนี้มุ่งเน้นไปที่การทำให้อาคารใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นนิยมในหลายประเทศและหลากหลาย ๆ กลุ่มอาคารไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม ไปจนถึงฮอลล์สำหรับจัดนิทรรศการ
● Green Star Buildings :เป็นข้อกำหนดการรับรองอาคาร Green Building ที่จัดตั้งโดยองค์กร Green Building Council of Australia (GBCA) ในปี ค.ศ. 2020 ข้อกำหนดนี้จะมีการประเมินใน 8 หมวดหมู่ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการอยู่อาศัย ปัจจุบันกำลังพัฒนาไปเป็นเวอร์ชัน v1.1 ที่จะมุ่งเน้นด้าน Net Zero และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น
Green Building อาคารสีเขียวเพื่อความยั่งยืน
Green Building ถือเป็นก้าวสำคัญสู่อนาคตที่ยั่งยืนทั้งสำหรับการอยู่อาศัยและการลดผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวคิด Green Building ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นอาคารขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ที่อยู่อาศัยขนาดเล็กอย่างบ้านทาวน์โฮมหรือบ้านเดี่ยวก็สามารถนำเอาแนวคิดนี้ไปปรับใช้ได้เช่นกัน โดยสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการเลือกใช้วัสดุรักษ์โลก
แผ่นยิปซัมตราช้าง ที่ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (CFP) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. มากกว่า 10 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งฉลาก Carbon footprint คือฉลากที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้ผ่านการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดอายุของผลิตภัณฑ์ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ถือเป็นวัสดุที่ช่วยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ยิปซัมตราช้างที่สนใจได้ที่ร้านผู้แทนจำหน่ายเอสซีจีและร้านขายวัสดุก่อสร้างชั้นนำทั่วประเทศ หรือค้นหาข้อมูลการใช้งานเพิ่มเติมได้ที่
● เว็บไซต์ :https://www.siamgypsum.com/th_th/
● Facebook :https://www.facebook.com/GypsumTraChangTH/
Reference
A rating tool for new buildings and major refurbishments. (n.d.). Green Building Council of Australia. https://new.gbca.org.au/green-star/rating-system/buildings/
(n.d.). BREEAM Sustainable Building Certification. https://breeam.com/
Certification. (n.d.). EDGE Buildings. https://edgebuildings.com/certify/certification/
Jacob Kriss. (2014, August 6). What is green building?. U.S. Green Building Council https://baabdd.com/articles/green-building/
LEED rating system.(n.d.). U.S. Green Building Council. https://www.usgbc.org/leed
What are green buildings?. (n.d.). Pacific Northwest National Laboratory | PNNL. https://www.pnnl.gov/explainer-articles/green-buildings