อาคารเขียว - USG Boral

รู้หรือไม่ ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่มให้โครงการคุณได้

หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ และอาคารสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งสองอย่างนี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร จริง ๆ แล้วการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการแสดงความใส่ใจต่อประเด็นปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

ทำอย่างไรถึงจะเป็นอาคารสีเขียว

การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ได้รับ ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ มีโอกาสรับรองเป็นอาคารเขียวมากกว่าการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ฉลาก ยกตัวอย่างเช่น มาตรฐาน TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) โดยสถาบันอาคารเขียวไทย (TGBI) ที่ได้มีการกำหนดเกณฑ์ของการเป็นอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเอาไว้โดยสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของไทย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และ เครื่องหมายฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือฉลากลดโลกร้อน 

เช่นเดียวกับ มาตรฐานอาคารเขียว หรือ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) โดยองค์กร U.S. Green Building Council (USGBC) ในประเทศสหรัฐอเมริกา อันเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ระบบการประเมินได้รับการออกแบบอย่างครอบคลุม โดยที่จะต้องคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ สุขภาพของคน การใช้วัสดุรีไซเคิล การปกป้องทรัพยากรน้ำ เป็นต้น และที่สำคัญเลยก็คือ ต้องใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระหว่างก่อสร้าง และเมื่อก่อสร้างเสร็จจะต้องไม่มีสิ่งรบกวนพื้นที่โดยรอบอีกด้วย

หลักเกณฑ์ของอาคารสีเขียว

เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดและได้มาตรฐาน TREES รวมถึงยังเป็นการเพิ่มคะแนนอาคารสีเขียวให้กับอาคารหรือตึกนั้น ๆ โดยมีข้อกำหนดเอาไว้ว่า ในการก่อสร้างจะต้องมีการใช้วัสดุฉลากสีเขียวมากกว่า 20% ขึ้นไป ถึงจะเข้าเกณฑ์การประเมินจากสถาบันอาคารเขียวไทย และถ้าหากผ่านการประเมิน อาคารเหล่านั้นก็จะได้รับคะแนนเพิ่ม 2 คะแนน ซึ่งจะเป็นเสมือนตัวบ่งบอกว่าอาคารที่ถูกสร้างขึ้นมาอยู่ในมาตรฐานอาคารสีเขียวที่ได้กำหนดเอาไว้

ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัสดุก่อสร้างและได้ฉลากคาร์บอนเรียบร้อยแล้ว มีทั้งหมด 168 ชนิด นอกจากนี้ยังรวมถึง บริเวณอาคารจะต้องมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 40% ของพื้นที่เปิดโล่ง โดยพื้นที่เปิดโล่งเชิงนิเวศจะต้องมีไม่น้อยกว่า 25% ของพื้นที่ฐานอาคาร ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกำหนดของมาตรฐาน TREES ได้ที่นี่

จากนั้นจะเป็นการพิจารณาตามมาตรฐาน LEED ที่จะต้องผ่านการประเมิน 6 หมวดหลักด้วยกัน นั่นคือ สถานที่ตั้งเพื่อความยั่งยืน การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ พลังงานและบรรยากาศ วัสดุและการก่อสร้าง คุณภาพสภาพแวดล้อมในอาคาร และนวัตกรรมในการออกแบบ โดยจะมีเกณฑ์บังคับ เพื่อเป็นอาคารสีเขียวอย่างสมบูรณ์ก็คือ จะต้องใช้น้ำน้อยกว่าอาคารทั่วไปหรือเกณฑ์ที่ใช้เปรียบเทียบ อย่างน้อย 20% โดยถ้าหากไม่ผ่านเกณฑ์ในข้อนี้ ก็จะหมดสิทธิเป็นอาคารสีเขียวไปโดยทันที

สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันนี้มีอาคารสีเขียวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอาคารสำนักงานหรือคอนโดมิเนียมต่าง ๆ ที่มีการนำเกณฑ์อาคารเขียวเข้ามาใช้เป็นเกณฑ์หลัก ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การก่อสร้าง การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ฉลากสีเขียวเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่โครงการนั้น ๆ ได้และถือเป็นความตั้งใจในการรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้ลูกค้าของโครงการหรือเจ้าของบ้านสามารถมั่นใจได้ว่าพวกเขา จะได้อยู่ในอาคารที่มีวัสดุก่อสร้างที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ที่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง

รักษ์โลกกับผลิตภัณฑ์ยิปซัม ตราช้าง

แผ่นยิปซัม ตราช้าง ผู้ผลิตแผ่นยิปซัมในประเทศไทยที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) รวม 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ แผ่นยิปซัมมาตรฐานตราช้างพลัส ความหนา 9 มม. แผ่นยิปซัมทนชื้น ตราช้างพลัส ความหนา 9 มม. และ แผ่นยิปซัมทนไฟตราช้าง ความหนา 15 มม.

เพราะเราใส่ใจในสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ค้นหาแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และแม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้บังคับใช้ในเรื่องของฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แต่เราเล็งเห็นความสำคัญในส่วนนี้ เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

และสำหรับโครงการบ้านหรือคอนโดมิเนียมนั้น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้างที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการ อีกทั้งยังจะเป็นการตอกย้ำถึงความตั้งใจในการรับผิดชอบต่อสังคม และลูกค้าของโครงการหรือเจ้าของบ้าน ก็จะมั่นใจได้ว่า พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย

คาร์บอนฟุตพริ้นท์คืออะไร

ตามอ้างอิงขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น ๆ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน ไปจนถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งานเสร็จสิ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นการวัดผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์และบริการจากกิจกรรมที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเชิงปริมาณ โดยใช้ตัวบ่งชี้คือโอกาสที่จะเกิดภาวะโลกร้อน ทำให้หลาย ๆ องค์กรเริ่มที่จะให้ความสำคัญในส่วนนี้กันมากขึ้น

ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

ในประเทศไทยเองก็มีการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ตลอดวัฎจักรชีวิต เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยและผลิตภัณฑ์สินค้าในประเทศไทยให้สามารถไปแข่งขันในตลาดโลกได้อีกด้วย โดยคณะทำงานพัฒนาและส่งเสริมฉลากคาร์บอนจะทำการพิจารณาถึงการลดลงของค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ เพื่อพิจารณาว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ สมควรที่จะได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือไม่

ทำไมถึงต้องเลือกผลิตภัณฑ์รักษ์โลก

สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบันก็คือ ผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ สิ่งทอ ปิโตรเลียม ไปจนถึงวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้าน เป็นต้น เห็นได้ชัดจากการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี อ้างอิงจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ยิ่งทำให้เห็นเลยว่ากลุ่มผู้บริโภควัยทำงาน หรือกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ก็เริ่มที่จะมองหาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริง อย่างเช่น ในภาคของการก่อสร้างและตกแต่งบ้าน โครงการหมู่บ้านจัดสรร โครงการคอนโดมิเนียมต่าง ๆ นั้น มีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ รวมถึงตัวโครงการได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการลดก๊าซเรือนกระจกมากน้อยเพียงใด เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการที่กำลังสนใจและต้องการที่จะขยายตลาดไปยังผู้บริโภคในกลุ่มนี้ ต่างต้องปรับตัวและเล็งเห็นถึงความสำคัญของกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานและครอบคลุมทุกมิติ อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งจุดขายที่จะทำให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และเพิ่มมุมมองที่ดีให้กับองค์กรของคุณด้วย

ข้อมูลอ้างอิง